ประวัติของบริษัทซูมิโตโม


ยุคเอโดะ: จุดเริ่มต้นของบริษัทซูมิโตโมและเหมืองทองแดง Besshi

ต้นกำเนิดปรัชญาของบริษัทซูมิโตโม อยู่ใน “หลักคำสอนของผู้ก่อตั้ง” ซึ่ง Masatomo Sumitomo (มาซาโตโมะ ซูมิโตโม) ผู้ก่อตั้งตระกูลซูมิโตโมได้เขียนและสืบทอดมาเพื่ออธิบายถึงวิธีการที่ผู้ประกอบการควรใช้ในการทำธุรกิจ ในช่วงแรก บริษัทซูมิโตโมเจริญรุ่งเรืองจากการค้าทองแดงและสินค้าอื่น ๆ

ประวัติความเป็นมาของบริษัทซูมิโตโม เริ่มต้นขึ้นในยุคของ Masatomo Sumitomo (ปี 1585 - 1652) ผู้เปิดร้านขายหนังสือและยาในเมืองเกียวโตในศตวรรษที่ 17 ซึ่ง Masatomo ได้ถ่ายทอดคำสอนของเขาไว้ในรูปแบบของ "หลักคำสอนของผู้ก่อตั้ง" ที่อธิบายถึงหลักการดำเนินธุรกิจไว้อย่างกระชับและชัดเจน คำสอนของเขายังคงถูกสืบทอดมาถึงปัจจุบันเพื่อใช้เป็นรากฐานของปรัชญาการดำเนินธุรกิจของบริษัทซูมิโตโม

หลักคำสอนของผู้ก่อตั้งในตอนต้น สอนให้เรา “พยายามทำทุกอย่างให้สุดความสามารถในทุกสถานการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องธุรกิจเท่านั้น” และขัดเกลาให้ตัวเราสร้างบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือมากกว่าการพยายามมุ่งเน้นด้านรายได้ ส่วนเนื้อหาหลักของคำสอนมุ่งเน้นความสำคัญของการบริหารที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริตและรอบคอบ

รูปปั้นไม้ของ Masatomo Sumitomo

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พี่เขยของ Masatomo นามว่า Riemon Soga (ริเอมอน โซกะ) (ปี 1572-1636) เจ้าของธุรกิจถลุงทองแดงและทำเครื่องทองแดงในเมืองเกียวโต (ภายใต้ชื่อทางการค้า Izumiya (อิสุมิยะ)) ได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการพัฒนาเทคโนโลยีการถลุงทองแดงเรียกว่า "Nanban-buki" (การถลุงแบบตะวันตก) เพื่อสกัดเอาเงินออกมาจากทองแดงดิบ ต่อมา Tomomochi Sumitomo (โทโมโมจิ ซูมิโตโม) (ปี 1607 - 1662) ลูกชายคนโตของ Riemon ซึ่งได้แต่งงานกับลูกสาวของ Masatomo และกลายเป็นสมาชิกตระกูลซูมิโตโม ได้ขยายธุรกิจไปยังเมืองโอซาก้า และเผยแพร่เทคโนโลยี "Nanban-buki" ให้กับผู้ประกอบการถลุงทองแดงรายอื่น ๆ Sumitomo และ Izumiya จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น "หัวหน้าตระกูล Nanban-buki" และเมืองโอซาก้า จึงได้ขึ้นมาเป็นเมืองผู้นำอุตสาหกรรมถลุงทองแดงในประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

หลักคำสอนของผู้ก่อตั้งซูมิโตโม

ในช่วงยุคเอโดะ ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ของโลก ซึ่ง Izumiya ที่เริ่มจากการค้าทองแดงได้ขยายธุรกิจออกไปยังธุรกิจเส้นด้าย น้ำตาล และยา และเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่กล่าวขานว่า "ไม่มีใครในเมืองโอซาก้าสามารถแข่งขันกับ Izumiya ได้"

วิธีถลุงทองแดงแบบดั้งเดิมของซูมิโตโม

จากนั้น Izumiya ก็ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเหมืองทองแดงและเปิดเหมืองทองแดง Besshi หลังจากได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโชกุน Tokugawa (โทคุกาวะ) ในปี 1691 เหมืองทองแดง Besshi ได้ดำเนินธุรกิจต่อไปเป็นเวลา 283 ปี และกลายเป็นหัวใจหลักของธุรกิจของบริษัทซูมิโตโม

แท่งทองแดง ทองแดงกลม

[พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของซูมิโตโม]

ตั้งแต่ยุคสมัยเมจิเป็นต้นมา: ช่วงเวลาการขยายธุรกิจของบริษัทซูมิโตโม

บริษัทซูมิโตโม เอาชนะความวุ่นวายของการฟื้นฟูในยุคสมัยเมจิและก้าวเข้าสู่ธุรกิจต่าง ๆ โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ของตะวันตก

หมืองทองแดง Besshi ได้รับผลกระทบจากราคาทองแดงตก ในขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงความวุ่นวายของการฟื้นฟูในยุคสมัยเมจิ ทำให้เหมืองต้องเผชิญกับความยากลำบากทางการเงิน เพื่อเอาชนะปัญหานี้ Saihei Hirose (ไซเฮ ฮิโรเสะ) (ปี 1828-1914) ซึ่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของเหมืองได้ปรับปรุงวิธีการดำเนินงานของเหมืองให้เป็นแบบสมัยใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีจากตะวันตกมาใช้ และประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตเป็นอย่างมาก

เหมืองทองแดง Besshi ในปี 1890

จากธุรกิจเหมืองทองแดง Besshi นี้ บริษัทซูมิโตโม ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกหลายธุรกิจตามมา เช่น การทำป่าไม้ การทำเหมืองถ่านหิน การก่อสร้าง เครื่องจักร เคมี การผลิตสายไฟ และโลหะ นอกจากนี้ ธุรกิจ "Ryogae-gyo" (การแลกเปลี่ยนเงินตรา) ที่บริษัทซูมิโตโมทำในยุคเอโดะได้มีการพัฒนามาเป็นธุรกิจการเงินแบบครบวงจร เช่น การธนาคาร คลังสินค้า ประกันภัย และสินเชื่อ โดยใช้เงินทุนจากเหมืองทองแดง Besshi ซึ่งทำให้บริษัทซูมิโตโมเติบโตขึ้นเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทันสมัยโดยมุ่งเน้นไปที่ 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจการทำเหมืองและการผลิต และธุรกิจการเงิน

เหมืองทองแดง Besshi ก่อนการฟื้นฟูสภาพป่า

ในขณะที่เหมืองทองแดง Besshi นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บริษัทซูมิโตโม แต่ก็ปรากฏผลกระทบด้านลบให้เห็นได้อย่างชัดเจน ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเหมืองทองแดงนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าในบริเวณภูเขาโดยรอบ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกจากโรงถลุงแร่ทำให้ต้นไม้ตายและพืชผลเสียหาย ด้วยความเชื่อที่ว่า การเพิกเฉยต่อการทำลายล้างเทือกเขา Besshi คือการกระทำผิดหลักจริยธรรมสากล Teigo Iba (เทโก อิบะ) (ปี 1847–1926) ผู้อำนวยการใหญ่คนที่สองของบริษัทซูมิโตโมจึงได้ตัดสินใจเริ่มทำโครงการใหญ่เพื่อย้ายโรงถลุงแร่ไปยังเกาะร้างที่อยู่ห่างจากชายฝั่ง ออกไป 20 กม. และเขาได้จ้างวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเพื่อเริ่มโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ด้วย ภาพปัจจุบันของเหล่าภูเขารอบเหมืองทองแดง Besshi ที่ได้รับการฟื้นฟูจนเขียวขจี ทำให้เราระลึกถึงหนึ่งในข้อบัญญัติของปรัชญาการดำเนินธุรกิจของซูมิโตโม กล่าวคือ “สร้างคุณประโยชน์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน”

ไปหน้าพันธกิจองค์กร

เหมืองทองแดง Besshi ในปัจจุบัน
โรงถลุง Shisakajima

[พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของซูมิโตโม]

จุดกำเนิดและการเติบโตของ บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น

การบูรณาการปรับปรุงจากความเสียหายหลังสงครามและความวุ่นวายในการล่มสลายของกลุ่ม Zaibatsu

บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ก่อตั้งขึ้นภายใต้ชื่อเดิมว่า โอซาก้านอร์ธฮาร์เบอร์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ซูมิโตโม เรียลเอสเตท บิลดิ้ง) ในปี 1919 โดยบริษัทซูมิโตโมและบริษัทอื่น ๆ

เมื่อสิ้นสุดสงครามแปซิฟิก Shunnosuke Furuta (ชุนโนะสุเคะ ฟุรุตะ) ผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทซูมิโตโมในขณะนั้นเห็นว่ากองทัพที่เข้ามายึดอำนาจต้องออกคำสั่งให้ยุบกลุ่ม Zaibatsu (ยักษ์ใหญ่ทางการเงิน) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในช่วงเวลาวิกฤตดังกล่าว เขาก็ได้ประกาศนโยบายบริษัทดังนี้ 1) ปรับโครงสร้างองค์กรของบริษัทที่มีการขยายตัวมากเกินไป โดยจำกัดการขยายตัวของบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษ โดยมอบหมายหน้าที่การงานให้บุคลากรแต่ละคนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และวางแผนสร้างกิจการใหม่ 2) บรรเทาทุกข์ให้บุคลากรที่ถูกส่งกลับประเทศและครอบครัวอย่างเต็มที่ และ 3) ป้องกันการปิดกิจการต่าง ๆ ของบริษัทซูมิโตโม โดยเปลี่ยนบริษัทไปสู่เป้าประสงค์ใหม่ที่จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประชาชนและประเทศชาติในอนาคต และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว เขาได้ตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจการค้านับตั้งแต่นั้นมา

บริษัทได้เปลี่ยนชื่อจาก ซูมิโตโม เรียลเอสเตท บิลดิ้ง เป็น นิปปอนเอ็นจิเนียริ่ง ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1945 และถือเป็นการเปิดตัวธุรกิจการค้าอย่างเป็นทางการ ฝ่ายขายของสำนักงานใหญ่ นิปปอนเอ็นจิเนียริ่ง จัดตั้งขึ้นในเดือนมกราคม ปี 1946 โดยมีพนักงานประจำการเพียง 32 คน และทั้งหมดเป็น "มือสมัครเล่น" ที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจการค้ามาก่อน แต่ Shunya Toji (ชุนยะ โทจิ) ประธานของ นิปปอนเอ็นจิเนียริ่ง ในขณะนั้น และต่อมาได้กลายเป็นประธานคนแรกของบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวให้กำลังใจพนักงานว่า "มือสมัครเล่นที่มีความกระตือรือร้นในการทำงานสามารถสร้างผลงานได้ดีกว่ามืออาชีพ"

ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงแรกคือการทำให้รากฐานการบริหารของบริษัทมีความแข็งแกร่ง ท่านประธาน Toji ได้สร้างแนวทางปฏิบัติในการบริหารที่ดีโดยการบริหารสินเชื่ออย่างรัดกุม ร่วมกับการใช้วิธีการอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็ขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มส่งพนักงานคนหนึ่งไปที่บอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) เป็นครั้งแรกในปี 1950 และจัดตั้งบริษัทสาขาที่นิวยอร์กในปี 1952 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซูมิโตโม โชจิ จำกัด ในปี 1952 ทำให้กลายมาเป็นสมาชิกของกลุ่มบริษัทซูมิโตโม ทั้งโดยชื่อและในทางปฏิบัติ

ต่อมาในทศวรรษ 1960 ได้มีการขยายกรอบการทำธุรกิจออกไปอย่างรวดเร็ว มีการส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ การพัฒนาทรัพยากร และการบุกเบิกอุตสาหกรรมใหม่อย่างจริงจัง จากการทำธุรกิจแบบ Cross-Divisional และมุมมองในระยะกลางถึงระยะยาว (Medium- to Long-Term Perspective) ทำให้บริษัทกลายเป็นบริษัทการค้าสามัญที่มีความมั่นคง

ประวัติความเป็นมาของบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น

สำนักงานใหญ่ของโอซาก้านอร์ธฮาร์เบอร์ (อาคาร ซูมิโตโม โซฮอนเท็น แอนเน็กซ์ เดิมเป็นโรงละครเทโคคุสะ)

[พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของซูมิโตโม]

Top